top of page

แนวทางการพัฒนาสังคม

                สังคมมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาด้วยอัตราที่เร็วบ้างช้าบ้าง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก่อให้เกิดผลดีมากมาย แต่ในขณะเดียวกันผลกระทบในทางลบก็เกิดขึ้นหลากหลายเช่นกันจนกลายเป็นปัญหาสังคมที่ต้องร่วมกันแก้ไข โดยในช่วงที่ผ่านาผลการพัฒนาสังคมของไทยนั้น ประสบความสำเร็จในหลายด้าน เช่น คนไทยมายุที่ยืนยาวขึ้น สามารถเข้าถึงหลักประกันศึกษาสูงขึ้น มีสาธารณูปโภคที่ดีครบครันแทบทุกหมู่บ้านทุกตำบลทั่วประเทศ

                แต่ความก้าวหน้าในเชิงคุณภาพยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เช่น คุณภาพการศึกษาของเด็กไทยโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ด้อย กลุ่มแรงงานยังมีระดับการศึกษาต่ำ สุขอนามัยยังอยู่ในภาวะเสี่ยงจากการเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมอันไม่เหมาะสม ปัญหาด้านสุขภาพ ความมั่นคงและความปลอดภัยของคนและสังคมยังน่าวิตก สังคมยังมีการก่ออาชญากรรม ทำร้ายร่างกาย จนถึงอาชญากรรมข้ามชาติ และสถาบันครอบครัวมีแนวโน้มอ่อนแอลงทุกขณะ

                ด้วยเหตุนี้ทิศทางและกระบวนการพัฒนาสังคมจึงต้องเป็นไปในเชิงรุกควบคู่กับการแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมานาน เพื่อให้การพัฒนาสังคมมีประสิทธิภาพ    ดังนั้น เป้าหมายของการพัฒนาสังคมในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 - 2554) จึงกำหนดให้ “คนไทยเป็นคนดี มีคุณภาพ มีความสุข อยู่ในสังคมที่เอื้ออาทร สันติ และเป็นธรรม ” โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาไว้ ดังนี้

                1) ยกระดับคุณภาพคนไทย เข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ โดยการสร้างศักยภาพการเรียนรู้ ทักษาชีวิต สร้างภูมิคุ้มกัน สร้างจิตสาธารณะ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และให้มีสุขภาพดีทุกมิติ กล่าวคือ ใช้กระบวนการชุมชนเข้มแข็งในการเสริมสร้างสุขภาวะและพฤติกรรมสุขภาพที่ดีในทุกกลุ่มอายุ สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างกำลังคนรุ่นใหม่ให้มีสมรรถนะทางวิชาชีพและทักษะ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศ

                2) เตรียมความพร้อมสังคมไทยสู่สังคมผู้สูงอายุ จำนวนประชากรผู้สูงอายุของประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ทั้งนี้เป็นเพราะความเจริญก้าวหน้าทางด้านการแพทย์ ดังนั้น จึงต้องร่วมกันสร้างเสริมความรับผิดชอบ การดูแลสุขภาพ สร้างหลักประกันด้านรายได้ สนับสนุนการใช้ความรู้ ประสบการณ์ และภูมิปัญญาของผู้สูงอายุให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม

                3) สร้างความมั่นคงทางสังคมแก่คนไทย โดยให้ทุกคนได้รับการคุ้มครองทางสังคม มีที่พักอาศัยที่มั่นคง มีความปลอดภัยในชุมชน และสร้างหลักประกันทางสังคมให้สามารถดำรงชีวิตและทำมาหากินได้อย่างปกติสุข เน้นบทบาทครอบครัวและชุมชนเป็นพื้นฐานสำคัญ

                4) รักษาคุณค่าของสังคมไทย โดยการนำทุนทางสังคมหรือสิ่งดีๆ ที่มีอยู่แล้วในสังคมมาก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนด้วยทุนทางสังคมที่มีอยู่แล้ว สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐ์กิจให้ทุนทางวัฒนธรรม ด้วยการส่งเสริมให้ภาคเอกชนนำวัฒนธรรมไทยมาเป็นปัจจัยในการผลิตสินค้าและบริการ

                กล่าวได้ว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ให้ความสำคัญต่อการสร้างประชากรและชุมชนให้เข้มแข็ง เน้นการมีส่วนร่วมพัฒนาสังคม จัดการบริหารการพัฒนามีประสิทธิภาพ และจัดทำรากฐานทางสังคมที่เข้มแข็ง เช่น สร้างระบบพื้นฐานและจัดบริหารทางสังคมที่ดีมีคุณภาพ กฎระเบียบต้องมีประสิทธิภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของคนทั้งในปัจจุบันและอนาคต

                กล่าวโดยสรุป การศึกษาสังคมมนุษย์นั้น จำเป็นต้องเรียนรู้ถึงโครงสร้างทางสังคมเพื่อให้สามารถมองเห็นลักษณะของระบบและสถาบันทางสังคมอย่างชัดเจน สามารถเข้าใจกลไกการจัดระเบียบทางสังคมที่ยึดโยงสังคมให้ธำรงอยู่และมีเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละสังคม โดยความสัมพันธ์ของสมาชิกในสังคมจะอยู่ภายใต้โครงสร้างสังคมที่อาจเป็นไปได้ ทั้งในทางความร่วมมือสนับสนุนกันและกัน การแข่งขัน การขัดแย้ง การประนีประนอม หรือการเอาเปรียบกัน แต่ทั้งหมดก็จะต้องเป็นไปตามระเบียบแผนหรือแบบแผนหรืออยู่ในกรอบของสังคมนั้นๆ

                เมื่อสังคมมีสมาชิกใหม่ กระบวนการขัดเกลาทางสังคมก็จะบังเกิดขึ้น เพื่อให้สมาชิกใหม่ได้เรียนรู้คุณธรรม คุณค่า และอุดมคติที่สังคมยึดมั่น และได้เรียนรู้บรรทัดฐานและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ใช้ในสังคม ซึ่งจะทำให้ผู้นั้นเป็นสมาชิกของสังคมได้อย่างสมบูรณ์ การขัดเกลาทางสังคมอาจเป็นไปในทางตรง เช่น สอนพูด สอนมารยาท และทางอ้อม เช่น ผ่านสื่อต่างๆ ผ่านอินเตอร์เน็ต และการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม

                นอกจากนี้ สังคมทั้งหลายมิได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและตามแรงกระตุ้นต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทำให้โครงสร้างและการจัดระเบียบทางสังคมต้องปรับเปลี่ยนไปตามกระแส ทั้งทางบวกและทางลบ ซึ่งผลกระทบในทางลบที่เกิดขึ้นอาจก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา ดังนั้น ประชาชนทุกคนต้องร่วมกันแก้ไขและสร้างแนวทางในการพัฒนาสังคม เพื่อให้โครงสร้างและการจัดระเบียบทางสังคมปรับเปลี่ยนตามบริบทที่อยู่บนรากฐานของความเป็นไทยอย่างแท้จริง

bottom of page