หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิต
สังคมของเรา
การเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ความหมายของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ราชบัณฑิตยสถาน (2524 : 337) อธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคม หมายถึง การที่ระบบสังคม กระบวนการ แบบอย่างหรือรูปแบบทางสังคม เช่น ขนบธรรมเนียมประเพณี ระบบครอบครัว ระบบการปกครอง ได้เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนี้อาจจะเป็นไปในทางก้าวหน้าหรือถดถอย เป็นไปได้อย่างถาวรหรือชั่วคราว โดยวางแผนให้เป็นไปหรือเป็นไปเอง และที่เป็นประโยชน์หรือให้โทษก็ได้ทั้งสิ้น
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมของสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมนับตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงก่อนสมัยรัชกาลที่ 4 คนไทยมีถีชีวิตที่เรียบง่าย เริ่มมีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนกระทั่งสังคมไทยได้รับอิทธิพลมากจากอารยธรรมตะวันตกมากยิ่งขึ้นในสมัยรัชการที่ 4 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็ว ต่อมาได้มีการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงแทบทุกด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจ ด้านการปกครอง ด้านการศึกษา ด้านเทคโนโลยี เป็นต้น
เมื่อกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในสมัยปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงเกือบทุกด้านโดยเฉพาะหลังจากที่ประเทศไทยได้ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา ที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมีการกำหนดทิศทางและแบบแผนมากขึ้น
ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
1. ปัจจัยภายใน
1.1 สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ
สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ ลักษณะของพื้นที่ ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยที่ช่วยกำหนดการจัดระเบียบและสภาพต่างๆ ในสังคม
1.2 การเปลี่ยนแปลงด้านประชากร
การเปลี่ยนแปลงเรื่องขนาดและการกระจายของประชากรทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม อาจะเกิดการรับเอาวัฒนธรรมไปใช้ หรือเกิดการผสมผสานกับวัฒนธรรมเดิมของตน
2. ปัจจัยภายนอก
2.1 สังคมที่อยู่โดดเดี่ยวและสังคมที่มีการติดต่อสมาคม
สังคมที่มีการติดต่อสมาคมกับบุคคลหรือกลุ่มต่างๆ บ่อยครั้ง จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงมากและรวดเร็วในทำนองเดียวกันสังคมที่อยู่โดดเดี่ยวจะมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากหรือเกิดการคงที่ทางวัฒนธรรม
2.2 โครงสร้างของสังคมและวัฒนธรรม
สังคมที่มีการแข่งขัน จะมีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมมากกว่าสังคมที่มีแบบแผน หรือโครงสร้างของสังคมและวัฒนธรรมในแบบเดียวกัน
2.3 ทัศนคติและค่านิยมเฉพาะสังคม
สังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอจะมีทัศนคติที่แตกต่างกันออกไป ทัศนคติและค่านิยมเป็นปัจจัยที่ช่วยให้ทราบว่าการเปลี่ยนแปลงจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงไร เช่น ในสังคมที่ยึดมั่นขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมจะเป็นสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อยและช้ามาก ส่วนสังคมที่มีค่านิยมที่ส่งเสริมการยอมรับให้มีสิ่งใหม่ๆ ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงง่ายและรวดเร็ว
2.4 ความต้องการที่รับรู้สิ่งใหม่ๆ
ความต้องการที่รับรู้สิ่งใหม่ๆ ของสมาชิกในสังคม เป็นปัจจัยที่ช่วยบอกทิศทางและอัตราการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่น เมื่อมีความต้องการทีแน่นอนจนเป็นที่ยอมรับของสังคมแล้วก็จะมีาการตอบสนองต่อความต้องการนั้น ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในที่สุด
2.5 พื้นฐานทางวัฒนธรรม
เมื่อพื้นฐานทางวัฒนธรรมเปลี่ยนไป จะทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น ในปัจจุบันที่พื้นฐานทางวัฒนธรรมในด้านเทคโนโลยี หรือความรู้ทางวิทยาศาสตร์เจริญกว่าในอดีต ทำให้สามารถนำทรัพยากรธรรมชาติและแร่ธาตุต่างๆ มาใช้ในการผลิตสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุให้วิถีชีวิตของผู้คนในสังคมเปลี่ยนแปลงไป
รูปแบบการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นนั้น มีสาเหตุที่สำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามธรรมชาติประการหนึ่ง กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากมนุษย์เป็นผู้กระทำอีกประการหนึ่ง แต่ในกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงสามารถทำให้เกิดรูปแบบของการเปลี่ยนแปลง 2 แบบ ดังนี้
1.การเปลี่ยนแปลงแบบเส้นตรง เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่กล่าวว่า ทุกสังคมจะมีวิวัฒนาการแบบเดียวกันตลอด โดยเปลี่ยนแปลงจากสังคมที่มีความเจริญของอารยธรรมขั้นต่ำไปสู่สังคมที่มีความเจริญของอารยธรรมระดับสูงขั้นต่อไป นักวิชาการที่เสนอรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแบบเส้นตรงได้แก่ ออกุสต์ กองต์ เลวิส เฮนรี่ มอร์แกน และคาร์ล มาร์คซ์ เป็นต้น
2.การเปลี่ยแปลงแบบวัฎจักร เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ไม่มีความสม่ำเสมอ สังคมจะมีจุดเริ่มต้น จากนั้นจะค่อยๆ เจริญก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงที่สุดก็จะเสื่อมสลายไป คล้ายกับความเจริญของมนุษย์ที่เริ่มจากเด็กทารก เติบโตเป็นวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ วัยชรา และในที่สุดก็ตายจากไป หรือหากเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงเป็นเวลาในวันหนึ่ง ๆ คือ เริ่มจากเช้ามืด สว่าง และมืด แล้วค่อย ๆ กลับมาเช้าใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแบบนี้เมื่อสังคมมีความเจริญถึงจุดสูงสุดแล้ว ก็จะค่อย ๆ เสื่อมสลายลง โดยไม่ได้สูญหายไปแต่จะมีการปรับปรุงและเจริญขึ้นมาใหม่ เช่น สังคมของกรีก อียิปต์ จีน อินเดีย เป็นต้น
อุปสรรคในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมอาจไม่ได้รับการยอมรับเสมอไป การเปลี่ยนแปลงบางอย่างอาจได้รับการยอมรับเพียงบางส่วน หรือบางอย่างอาจไม่ได้รับการยอมรับเลย ซึ่งอุปสรรคในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอาจสรุปได้ดังนี้
1. การเห็นประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลงจะไม่ได้รับการยอมรับ หากสมาชิกในสังคมไม่เห็นคุณค่าหรือประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลงนั้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นจากการทดลอง เช่น การสื่อสารดาวเทียม เป็นต้น แต่บางเรื่องก็ไม่สามารถนำมาทดลองได้ เช่น ภูตผีปีศาจ วิญญาณ เป็นต้น สังคมจะยอมรับการเปลี่ยนแปลง เมื่อสิ่งต่างๆ เหล่านั้นแสดงให้เห็นถึงคุณประโยชน์ที่มีต่อสังคม
2. ความสอดคล้องกับวัฒนธรรมเดิม
สังคมจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อการเปลี่ยนแปลงนั้นมีความสอดคล้องกับวัฒนธรรมเดิมหรือช่วยให้สังคมพัฒนาดีขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องไม่ขัดต่อวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิมของสังคม ซึ่งสังคมจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ถ้าสิ่งนั้นสอดคล้องกับการปฏิบัติเดิมของตน และมีการพัฒนาให้ดีขึ้นเพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้
3. กลุ่มรักษาผลประโยชน์
กลุ่มที่รักษาผลประโยชน์จะคัดค้านการเปลี่นแปลงถ้าพบว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้เสียผลประโยชน์ของกลุ่ม แต่ในทางตรงกันข้าม กลุ่มจะให้การสนับสนุนถ้าพบว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นประโยชน์ต่อกลุ่ม
4. ตัวแทนการเปลี่ยนแปลง
ตัวแทนการเปลี่ยนแปลงที่มีอิทธิพลหรือมีอำนาจจะประสบผลสำเร็จามากกว่าตัวแทนที่ไม่มีใครรู้จักและหากตัวแทนการเปลี่ยนแปลงมีความเข้าใจและรู้จักวัฒนธรรมที่ตนเข้าไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรใหม่และวัฒนธรรมเดิม จะทำให้การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นเป็นไปตามความคาดหมาย
