top of page

โครงสร้างทางสังคม

            สังคมมนุษย์แม้ว่าจะมีขนาดของสังคมหรือลักษณะเฉพาะของสังคมแตกต่างกัน แต่เมื่อกล่าวถึงโครงสร้างทางสังคมโดยทั่วไปหรือโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมเบื้องต้นแล้ว ทุกสังคมต่างมีองค์ประกอบสำคัญอยู่บนพื้นฐานสองประการที่สำคัญคือกลุ่มสังคมและสถาบันทางสังคมการศึกษาในเรื่องโครงสร้างทางสังคมจะช่วยให้เข้าใจเกี่ยวกับสังคมในแง่มุมต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่ง โครงสร้างทางสังคมมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

 

ความหมายโครงสร้างทางสังคม

            โครงสร้างทางสังคม หมายถึง ส่วนต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นระบบความสัมพันธ์ของสังคมมนุษย์ ส่วนประกอบดังกล่าวจะต้องเป็นเค้าโครงที่ปรากฏในสังคมมนุษย์ทุก ๆ สังคม แม้ว่าจะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปในแต่ละสังคมก็ตาม ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท

            1. กลุ่มปฐมภูมิ หมายถึง กลุ่มสังคมที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดสนิทสนมกัน เช่น ครอบครัว เพื่อนเล่น ชมรม สังคมชนบท เป็นต้น

            2. กลุ่มทุติยภูมิ หมายถึง กลุ่มสังคมที่มีความสัมพันธ์อย่างเป้นทางการ สัมพันธ์เชิงพันธะสัญญา และมีความสัมพันธ์เฉพาะด้าน ติดต่อกันตามตำแหน่งหน้าที่การงาน เช่น บริษัท สังคม มูลนิธิ สังคมเมือง ครูกับนักเรียน นายจ้างกับลูกจ้าง เป็นต้น

 

การจัดระเบียบทางสังคม

           การจัดระเบียบทางสังคม หมายถึง กระบวนการทางสังคมที่จัดขึ้นเพื่อควบคุมสมาชิกให้มีความสัมพันธ์กันภายใต้แบบแผนและกฎเกณฑ์เดียวกัน เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคม

          สาเหตุของการจัดระเบียบสังคม

         1. เพื่อให้การติดต่อสัมพันธ์กันทางสังคมเป็นไปอย่างเรียบร้อย

         2. เพื่อป้องกันความขัดแย้งระหว่างสมาชิกในสังคม

         3. ช่วยให้สังคมดำรงอยู่สงยสุขและมั่นคงในสังคม

 

การจัดระเบียบทางสังคม

           สังคมเป็นที่รวมของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เมื่อมีการรวมกลุ่มของกลุ่มบุคคลเพิ่มมากขึ้นสังคมก็ยิ่งมีความแตกต่างในหลายๆ ด้านเกิดขึ้นความแตกต่างดังกล่าว หากมีการควบคุมและจัดระเบียบของกลุ่มและในสังคมที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว สังคมก็อาจสับสนวุ่นวายขึ้นได้


ความหมายของการจัดระเบียบสังคม

           การจัดระเบียบสังคม เป็นกระบวนการที่สมาชิกได้พัฒนาการกระทำระหว่างกันทางสังคมอย่างมีระเบียบ โดยมีสมาชิกส่วนรวมของสังคมไทยยอมรับเป็นแนวความประพฤติร่วมกันและสืบทอดจนเป็นบรรทัดฐานในการดำรงชีวิตร่วมกันของสมาชิกในสังคม

สาเหตุที่ต้องมีการจัดระเบียบสังคม
                 1. สมาชิกในสังคมมีความแตกต่างกัน
                 2. แต่ละคนมุ่งแต่ผลประโยชน์ของตน จนเกิดความขัดแย้งได้

 

ความจำเป็นที่ต้องมีการจัดระเบียบสังคม
                 1. เนื่องจากสมาชิกในสังคมมีความแตกต่าง ทั้งในทางกายภาพและในทางสังคม
                 2. เนื่องจากสมาชิกในสังคมมีวัตถุประสงค์และมีความต้องการร่วมกันในสังคมมนุษย์ทุกๆ สังคมสมาชิกแต่ละคนย่อมมีความต้องการพื้นฐานร่วมกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกำหนดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกเพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์และความต้องการนั้น
                 3. เพื่อป้องการขัดแย้งระหว่างสมาชิกในสังคม ธรรมชาติของมนุษย์ คือ การต่อสู้ การใช้อำนาจ ดังนั้นจึงต้องมีกฎเกณฑ์เพื่อให้ความสัมพันธ์ของสมาชิกในสังคมราบรื่น


วิธีการจัดระเบียบทางสังคม
         1. บรรทัดฐาน
         2. สถานภาพ – บทบาท และการจัดชั้นยศ
         3. ค่านิยม
         4. การขัดเกลาทางสังคม
         5. การควบคุมทางสังคม


องค์ประกอบของการจัดระเบียบ

         1.บรรทัดฐานทางสังคม

         บรรทัดฐานทางสังคม หมายถึง ระเบียบ กฎเกณฑ์ หรือแบบแผนของพฤติกรรมที่สังคมยอมรับเป็นแนวทางให้สมาชิกประพฤติปฏิบัติในแต่ละสถานการณ์ มี 3 ประการ คือ
                 1. วิถีประชา/วิถีชาวบ้าน หมายถึง แบบแผนความประพฤติที่สมาชิกปฏิบัติด้วยความเคยชิน เนื่องจากได้รับการปลูกฝังถ่ายทอดมาตั้งแต่วัยเด็กจนเติบใหญ่ แม้ว่าจะไม่มีการกำหนดโทษผู้ที่ละเมิดฝ่าฝืนอย่างเข้มงวด แต่อาจถูกคนอื่นเยาะเย้ย ถากถาง หรือได้รับการนินทา ทำให้สมาชิกต้องปฏิบัติตามวิถีชาวบ้าน จนเกิดความเป็นระเบียบทางสังคมในที่สุด
                  2. จารีต หมายถึง แบบแผนความประพฤติที่สมาชิกปฏิบัติในสถานการณ์ต่าง ๆ โดยผู้ที่ละเมิดฝ่าฝืนจะได้รับการต่อต้านจากสมาชิกในสังคมอย่างจริงจัง เนื่องจากมีผลกระทบต่อระบบสัมพันธ์ของสมาชิกเป็นส่วนรวม
                  3. กฎหมาย หมายถึง กฎเกณฑ์ของความประพฤติซึ่งสร้างขึ้นโดยองค์การทางการเมืองการปกครอง และโดยได้รับการรับรองจากองค์กรของรัฐ

 

          2.สถานภาพ
          สถานภาพทางสังคม หมายถึง ตำแหน่งของบุคคลซึ่งได้มาจากการเป็นสมาชิกของกลุ่มและของสังคม ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการจัดระเบียบสังคม เนื่องจากการกระทำระหว่างสมาชิกในสังคมย่อมเป็นไปตามสถานภาพที่ตนดำรงอยู่

          ลักษณะสถานภาพ
                   1) เป็นสิ่งเฉพาะบุคคลที่แตกต่างจากผู้อื่น เช่น อารีย์เป็นนักเรียน สมชาติเป็นตำรวจ เป็นต้น
                   2) บุคคลหนึ่งอาจมีหลายสถานภาพ เช่น สมชาติเป็นตำรวจเป็นข้าราชการและเป็นพ่อ
                   3) เป็นสิทธิและหน้าที่ทั้งหมดที่บุคคลมีอยู่ในการติดต่อกับผู้อื่นและสังคมส่วนรวม
                   4) เป้นตัวกำหนดว่าบุคคลนั้นมีหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างไรในสังคม
          สถานภาพ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 

                   1) สถานภาพที่ติดตัวมาโดยสังคมเป็นผู้กำหนด เช่น อายุ เพศ ชาติกำเนิด เชื้อชาติ 
                   2) สถานภาพที่ได้มาภายหลัง เช่น สถานภาพระบบเครือญาติ, สถานภาพทางการศึกษา, อาชีพ

          3.บทบาท
           บทบาท หมายถึง การปฏิบัติตามหน้าที่และการแสดงพฤติกรรมที่ปฏิบัติตามสถานภาพ เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมและคาดหมายให้บุคคลกระทำ เช่น นายสมชายมีสถานะเป้นพ่อ  มีบทบาทในการเลี้ยงดูบุตร นายเจริญฤทธิ์มีสถานภาพเป็นหมอ มีบทบาทในการรักษาผู้ป่วย เป็นต้น

 

          4. การควบคุมทางสังคม

           การควบคุมทางสังคม คือ กระบวนการต่างๆ ทางสังคม ที่มุ่งหมายให้สมาชิกของสังคมยอมรับและปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคม เช่น กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ศีลธรรม และจารีตประเพณี ความเป็นระเบียบของสังคมเกิดขึ้นส่วนหนึ่งเพราะสังคมใช้มาตรการต่างๆ ควบคุมพฤติกรรมของบุคคล ทั้งที่ปรากฏออกมาภายนอก

 

สถาบันสังคม
              สถาบันสังคม หมายถึง รูปแบบพฤติกรรมของสมาชิกในสังคมเพื่อสนองความต้องการร่วมกันในด้านต่าง ๆ และเพื่อการคงอยู่ของสังคมโดยรวม แบบแผนพฤติกรรมต่าง ๆ เป็นไปตามบรรทัดฐานทางสังคมที่มีความชัดเจนแน่นอน และเป็นไปตามวัฒนธรรมของสังคม
สถาบันสังคม แยกได้ 5 สถาบัน ได้แก่ สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถาบันการเมืองการปกครอง และสถาบันเศรษฐกิจ

              1. สถาบันครอบครัว 

               สถาบันครอบครัว เป็นสถาบันพื้นฐานของสังคมไทยซึ่งเกิดจากกลุ่มคนตั้งแต่สองคนขึ้นไปมีความสัมพันธ์กันทางการสมรส ทางสายโลหิต หรือการรับเอาไว้เป็นบุตรบุญธรรม รวมทั้งรับบุคคลอื่น เช่น ญาติ และคนรับใช้มาอาศัยอยู่ร่วมกัน เป็นสถาบันที่ใกล้ชิดและมีอิทธิพลโดยตรงในการอบรมขัดเกลาให้สมาชิกมีบุคลิกภาพดี และมีการปรับตัวที่เกมาะสมเพื่อเป็นสมาชิกที่ดีในสังคม

     หน้าที่ของสถาบันครอบครัว
            1. หน้าที่ผลิตสมาชิกใหม่ให้แก่สังคม เพื่อทดแทนสมาชิกของสังคมที่สิ้นชีวิตลง
            2. หน้าที่เลี้ยงดูสมาชิกใหม่ให้มีชีวิตรอด เนื่องจากทารกแรกเกิดและเด็กไม่สามารถดูแลตนเองได้
            3. หน้าที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมของสังคมไปสู่สมาชิกใหม่ ซึ่งเป็นกระบวนการขัดเกลาทางสังคมเพื่อให้เด็กเติบโตเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม
            4. หน้าที่อื่น ๆ ได้แก่ การสนองความต้องการทางจิตใจ ทำหน้าที่ให้ความรักความอบอุ่นสมาชิก

     บทบาทของสมาชิก

            สมาชิกในครอบครัวมีบทชาทไปตามสถานะภาพของตน เช่น พ่อแม่มีบทบาทในการเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอน ให้ความรักความเมตตาและให้กำลังใจแก่ลูก ส่วนลูกมีบทบาท คือ รักและเคารพ เชื่อฟังพ่อแม่ มีความกตัญญูกตเวที

               2. สถาบันการศึกษา 

                    สถาบันการศึกษาเป็นสถาบันที่จำเป็นสำหรับการพัฒนามนุษย์ต่อจากสถาบันครอบครัว โดยให้การศึกษาแก่สมาชิกในสังคม มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สมาชิกในสังคมเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรมและจริยะธรรม และสามารถให้ทำประโยชน์กับสังคม ตลอดจนสามารถดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

     หน้าที่ของสถาบันการศึกษา
             1. ถ่ายทอดความรู้ วัฒนธรรม และทักษะ อันจำเป็นในการดำรงชีพของสมาชิกในสังคม
             2. สร้างบุคลิกภาพทางสังคมให้แก่สมาชิก สามารถปรับตนในการติดต่อสัมพันธ์กับบุคคลอื่นและปฏิบัติตนให้มีคุณค่าแก่สังคม
             3. การกำหนดสถานภาพทางสังคม และชนชั้นทางสังคมสถานภาพจากสถาบันการศึกษา เป็นส่วนประกอบสำคัญประการหนึ่งในการจัดช่วงชั้นทางสังคม
             4. หน้าที่ในการผลิตกำลังแรงงานทางเศรษฐกิจ ตามความต้องการทางสังคม
             5. หน้าที่ในการสร้างกลุ่มเพื่อนเป็นหน้าที่แฝงของสถาบันการศึกษา ซึ่งก่อให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อนเพื่อสนองความต้องการทางจิตใจของสมาชิกในสังคม

    บทบาทของสมาชิก

            สมาชิกในสถาบันการศึกษามีบทบาทไปตามสถานภาพและตำแหน่งต่างๆ เช่น ผู้อำนวยการโรงเรียน บทบาทในการบริหารการศึกษาของโรงเรียน ครูมีบทบาทในการสั่งสอนอบรมให้ศิษย์มีความรู้ และเป็นพลเมืองดีของสังคม ส่วนนักเรียนมีบทบาทในการตั้งใจเล่าเรียน เชื่อฟังคำอบรมสั่งสอนของครู เป็นต้น

 

              3. สถาบันศาสนา 

               สถาบันศาสนา เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ก่อให้เกิดแบบแผนหรือแนวทางในการปฏิบัติตนของสมาชิก ซึ่งประกอบด้วยความเชื่อ ความรู้สึกทางอารมณ์ พฤติกรรมที่แสดงออกอย่างถูกต้อง งดงาม และเหมาะสม สถาบันศาสนามีรูปแบบที่สำคัญ ได้แก่ พิธีกรรมหลักความเชื่อ หลักคำสอน และสัญลักษร์ทางศาสนา

      หน้าที่ของสถาบันศาสนา
              1. สร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่สังคม
              2. สร้างเสริมและถ่ายทอดวัฒนธรรมแก่สังคม
              3. ควบคุมสมาชิกให้ปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคม
              4. สนองความต้องการทางจิตใจแก่สมาชิกเมื่อสมาชิกเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ

      บทบาทของสมาชิก

              สมาชิกสถาบันศาสนามีบทบาทตามสภานภาพต่างๆ เช่น นักบวชและพระสงฆ์มีบทบาทในการสอนให้คนเป็นคนดี ละเว้นความชั่ว รู้จักบาปบุญคุณโทษ ฆราวาสมีบทบาทในการปฏิบัติตนให้อยู่ในศีลธรรมเป็นต้น

 

              4. สถาบันทางการเมืองการปกครอง 

              สถาบันทางการเมืองการปกครอง เป็นสถาบันที่กำหนดบทบาทในการจัดการทางสังคมประกอบด้วยกลุ่มคนหรือองค์กรทางสังคมที่มีหน้าที่รักษาความสงบสุข และความมั่นคงของชาติเพื่อช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ช่วยป้องกันและปราบปราม ช่วยวางแผนและกำหนดนโยบายของส่วนรวม ให้หลักประกันคุ้มครองเสรีภาพของบุคคลและสร้างความมั่งคงให้กับชีวิต

      หน้าที่ของสถาบันการเมืองการปกครอง
            1. สร้างระเบียบกฎเกณฑ์ให้แก่สังคม เช่น สถาบันเศรษฐกิจย่อมจะต้องมีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเงิน
            2. วินิจฉัยข้อขัดแย้งระหว่างสมาชิกในสังคม มีองค์การทางตุลาการคอยให้ความยุติธรรมแก่สมาชิกที่มีความขัดแย้งต่อกัน
            3. หน้าที่ในการบริหารองค์การของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น
            4. การป้องกันและรักษาความปลอดภัยทั้งภายในสังคมและจากภายนอกสังคม

     บทบาทสมาชิก

            สมาชิกสถาบันทางการเมืองการปกครองมีบทบาท เช่น นายกรัฐมนตรีมีบทบาทในการเป็นผู้นำฝ่ายรัฐบาล มีหน้าที่ควบคุมดูแลการทำงานของคระรัฐมนตรี ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีบทบาทในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายรัฐบาล สำหรับประชาชนมีบทบาท คือรักษาสิทธิเสรีภาพของตนเอง และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

 

            5. สถาบันเศรษฐกิจ 

             สถาบันเศรษฐกิจ เป็นสถาบันที่สนองความต้องการของสมาชิกในด้านปัจจัย 4 และบริการในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการดำเนินชีวิต สถาบันเศรษฐกิจเป็นระบบหรือแบบแผนของการคิด และวิธีการทางด้านการผลิตและการบริโภค ตลอดจนให้ความสะดวกในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ    

      หน้าที่ของสถาบันเศรษฐกิจ

             1. ผลิตสินค้า เพื่อสนองความต้องการของสมาชิกในสังคม ซึ่งประกอบไปด้วยสินค้าพื้นฐานจนถึงสินค้าอำนวยความสะดวก
             2. การกระจายสินค้าที่ผลิตได้ไปสู่สมาชิกในสังคมอย่างทั่วถึง
             3. การกระจายบริการต่าง ๆ ไปสู่สมาชิกในสังคม
             4. การกำหนดสถานภาพทางสังคมและชนชั้นทางสังคม 
             5. สถาบันทางเศรษฐกิจก่อให้เกิดหน้าที่สำคัญ คือ เป็นพื้นฐานอำนาจทางการเมือง 

      บทบาทของสมาชิก

             สมาชิกของสถาบันเศรษฐกิจมีบทบาทตามสถานภาพ เช่น ผู้จักการมีบทบาทในการบริหารและรับผิดชอบบริษัทห้างร้านให้ดีที่สุด ชาวนาชาวไร่มีบทบาทในการผลิตสินค้าทางการเกษตรเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค สำหรับเยาวชนที่มีสถานภาพเป็นผู้บริโภคหรือผู้รับบริการมีบทบาทในการรักษาสิทธิของผู้บริโภค เป็นต้น

 

 

 

 

 

ที่มา หนังสือเรียน วิชาหน้าที่พลเมือง วัฒนธรรมและการดำเนินชีวิต ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 

 

 

bottom of page